การตลาดสีชมพู (Pink Ocean Marketing)

      การตลาดสีชมพู (Pink Ocean Marketing) เป็นแนวคิดที่ผู้เขียน เขียนขึ้นมาเอง เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการตลาดในยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน รวมทั้งกรอบแนวคิดทางการตลาดซึ่งก่อนหน้านี้จนถึง ยุคปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ คือ Red Ocean,Blue Ocean และล่าสุดพูดถึง White Oceann

     โดยที่ Red Ocean คือ การตลาดที่ว่าด้วยเรื่องราคาเป็นหลัก เราจึงเห็น ลด แลก แจก แถม เพื่อช่วงชิงลูกค้ามาให้ได้ ซึ่งแต่ละเจ้าก็สู้กันยิบตาไม่มี ถอย สุดท้ายเจ็บตัวกันทั้งหมด จึงเหมือนน่านน้ำที่ออกหาปลากันแล้ว แย่งชิงปลากันจนเลือดสาดกระเด็นจนเป็นน่านน้ำ สีแดง

       Blue Ocean คือ การตลาดที่มีแนวคิดที่แตกต่างและต้องลดต้นทุน จึงเกิดนวัตกรรมมากมายเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ได้ ซึ่งยุคปัจจุบันเราจึงเห็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาเป็นตัวช่วยอย่างมากมาย จึงเปรียบกันดั่งว่าหาน่านน้ำหาปลากันใหม่แล้วเรียกว่า น่านน้ำสีฟ้า

       White Ocean คือ การตลาดสีขาว ซึ่งต้องบอกว่ากรอบแนวคิดแตกต่างกับทั้ง 2 อย่างสิ้นเชิง คือ มีมิติในการมองที่ว่า ทำตลาดโดยการเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เอื้อเฟื้อเพื่อแผ่กัน สนใจสิ่งแวดล้อมอย่างจิงจัง

       ใส่ใจพนักงานในองค์กรอย่างเต็มที่ และให้ความสำคัญกับผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นเท่าๆกัน อีกทั้งให้ความจริงใจกับทั้งผู้ผลิตให้เราและ ลูกค้าของเรา ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อยู่ด้วย โดยให้ความสำคัญทุกๆอย่างเท่ากัน จะเห็นได้ว่าการตลาดในยุคสีขาวนั้น ต้องเป็นองค์กรที่ต้องพร้อมในทุกๆ ด้าน

        ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเงิน กำไร การจัดการองค์กร และปัจจัยอีกมากมายที่เป็นตัวสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นโจทย์ที่ยากมากๆ สำหรับองค์กร Pink Ocean การตลาดสีชมพู จึงเป็นแนวคิดของผู้เขียนเอง ซึ่งก็ใช้หลักทฤษฎีมาจากการตลาดเหล่านี้ แต่จะเพิ่มเติมมา คือ ความรักและเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างที่เราไม่ฝืนตัวเองและไม่เอาเปรียบสังคม

 

 

#การตลาดด้วยเมตตาทุกยุค

    การตลาดยุค 1.0 ว่าด้วยความพึงพอใจของผู้ขาย เป็นยุคที่ผลิตสินค้าปริมาณมากๆ ออกมาขาย จึงเต็มไปด้วยความ #มักง่าย คือ ตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจใคร ฉันได้อย่างเดียว
ยังไงก็มีคนซื้อ

     ต่อมาถูกพัฒนามาสู่ยุคการตลาด 2.0 ว่าด้วยความพึงพอใจของลูกค้าหรือผู้ซื้อเป็นหลัก เราจึงได้ยินวลีที่คลาสิคว่า “ลูกค้า คือ พระเจ้า”    ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้า ความวุ่นวายเกิดขึ้นมากมาย ในยุคนี้ เป็นยุคที่เรียกว่า #ไม่ง่าย เพราะวุ่นวายกับความต้องการที่ ไม่จบไม่สิ้น

      มาในปัจจุบัน คือ #การตลาดยุค 3.0 ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ของทุกสรรพสิ่ง ที่มีผลกระทบ ไม่ได้แค่พูดถึงความพึงพอใจใครเป็นหลัก แต่จะบูรณาการทุกๆ มิติ ให้ได้เกื้อกูลกัน ยุคที่เต็มไปด้วย จิตอาสา จิตสาธารณะ เพื่อบอกว่าสังคมจะน่าอยู่ พวกเราต้องมีความเสียสละ เห็นใจ ช่วยเหลือ และอีกมากมายความดี ที่มีการรณรงค์ จาก
ผู้ขาย เพื่อบอกว่า เราให้ความสำคัญกับทุกสิ่ง

          ไม่ว่าการตลาดยุคไหน ถ้าทุกสิ่งที่ทำลงไป เป็นไปด้วยจิตที่หวังประโยชน์ พื่อสนองต่อผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าด้วยวิธีการใด สุดท้ายเราจะพบกับการตลาดในยุคที่เรียกว่า การตลาดยุค มืด คือ  การตลาดยุค 0.0 นั่นเอง….สนิทใจ

 

 

 

#นักการตลาดพบคำตอบพุทธเจ้าเห็นความหมาย

นักการตลาดค้นพบความต้องการของมนุษย์เพื่อตอบสนองด้วยข้อเสนอทางการตลาด ที่เรียกว่าส่วนประสมทางการตลาด 4 P (Product Price Place Promotion )

   พุทธเจ้ามองเห็นความต้องการที่ไม่จบสิ้นของมนุษย์ แล้วนำมาบอกด้วยแนวทาง อริยมรรค 8 โดยมีอริยสัจ4 เป็นส่วนประสมของความทุกข์….สนิทใจ

 

 

 

#รู้เขารู้เราไม่ต้องรบก็ชนะ

     ในมุมมองของนักการตลาดเวลาจะขายสินค้าหรือบริการอะไรซักอย่างนั้น สิ่งที่จะทำเป็นสิ่งแรก คือ การสำรวจตัวเองและสิ่งรอบตัวว่าเอื้อหรือเป็นปัญหา สำหรับเราหรือเปล่า ก็เหมือนเราตรวจสอบสภาพรถ ก่อนออกเดินทางบนท้องถนนอันยาวไกลและขรุขระ หรือมีบางช่วงเรียบบ้าง

 นักการตลาดใช้เครื่องมือที่รียกว่า
SWOT (การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก)

S-Strength จุดแข็ง คือ ความเชี่ยวชาญ ในด้านต่างๆ ที่คนอื่นไม่มีหรือมีน้อยกว่าเรา

W-Weakness จุดอ่อน คือ สิ่งที่เป็นข้อด้อยของเรา ไม่ถนัด ไม่เก่ง

O-Opportunity โอกาส คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาและเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจเรา

T-Threat อุปสรรค คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาและเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจเรา

     โดยที่ S-Strength จุดแข็ง และ W-Weakness จุดอ่อน เป็นปัจจัยภายในที่อยู่ภายในธุรกิจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คน ตัวสินค้า กระบวนการผลิต ต่างๆอีกมากมายที่หล่อหลอมมาเป็นธุรกิจของเราแล้วใช้สิ่งเหล่านี้ผลิตสิ้นค้า

      ส่วน O-Opportunity โอกาส กับ T-Threat อุปสรรค เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ อยู่นอกเหนือที่เราจะทำอะไรกับมันได้ เพราะยังไงมันต้องเกิด เช่น เศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี ต่างๆเหล่านี้ ที่เราต้องคอยดูว่ามีทิศทางไปทางไหน เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจเรา เป็นเหมือนสัญญาณเตือน

      สุดท้ายไม่ว่าเราจะวิเคราะห์ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในได้ทั้งหมดแล้ว การลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เรารู้ปัญหาและแก้ไขได้ทันที แต่การวิเคราะห์เป็นสิ่งที่เหมือนแผนที่จะทำให้เราไม่หลงทิศหลงทางในการออกเดินถนนบนสายธุรกิจนี้ได้

บางทีสิ่งเหล่านี้นำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดีเลยนะลองคิดดู….สนิทใจ

 

 

 

#การรู้ว่าตัวเองจะไปทางไหนสำคัญมากแต่การรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนสำคัญกว่า

 ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึง การวิเคราะห์ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกด้วยการ SWOT มาแล้ว บทความนี้จะมาพูดถึง ส่วนประสมทางการตลาดที่เรียกว่า 4P เพราะนี่ คือ ตัวชี้วัดธุรกิจของท่านว่าจะไปรอดหรือไม่รอดกันเลยทีเดียว

ส่วนประสมทางการตลาด 4P
1.Product = สินค้า
2.Price = ราคาสินค้า
3.Place = สถานที่ขายสินค้า
4.Promotion = ทำให้รู้จักสินค้า

1.Product = สินค้า

         คือ สิ่งแรกที่การจะทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึง เพราะหลังจากการที่เราวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนตัวเอง (ธุรกิจ) ได้แล้ว เราจะใช้จุดแข็งที่เรามีมาผลิตสินค้า ซึ่งก็ประกอบไปด้วย คุณลักษณะ สรรพคุณ รูปลักษณ์ คุณสมบัติ หีบห่อ การบริการหลังการขาย และอื่นๆ อีกมากมาย
ที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้า

2.Price = ราคาสินค้า

         เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะสินค้าต้องขายให้ได้กำไร ราคาขายจึงต้องตั้งโดยมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเป็นตัวกำหนดราคา เช่น ต้นทุนสินค้า ค่าดำเนินการทางธุรกิจ ค่าจ้าง ค่าขนส่ง
และต้นทุนอื่นๆอีกมากมายที่ใช้ในการผลิตสินค้า เหล่านี้ล้วนเป็นที่ที่เราต้องนำมาพิจารณา เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์การตั้งราคาของสินค้าเรา

3.Place = สถานที่ขายสินค้า

          เป็นเรื่องที่ปัจจุบันให้ความสำคัญมากๆ เพราะสินค้าจะดี จะถูกอย่างไร ถ้าไม่มีสถานที่จัดจำหน่าย ก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจได้ยินคำว่า ร้านโชห่วย คือ ร้านขายของชำต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีช่องทางเพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย เรียกว่า โมเดิร์นเทรด หรือ ช่องทางการขายสมัยใหม่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ถ้าให้เห็นภาพชัดก็คือ ร้าน 7-11 บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร ท็อป และห้างสรรพสินค้าต่างๆ
           ปัจจุบันมีในปั๊มน้ำมันและ OUTLET ต่างๆที่เกิดขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกที่ดีเลยทีเดียว แต่ที่ต้องเรียกว่าเป็นพระเอกในช่องทางการจัดจำหน่ายในปัจจุบันจริงๆ คือ ช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นขายผ่าน เวปไซด์ เฟสบุ๊ค ไลน์ ยูทู๊ป ซึ่งต้องบอกว่ามาแรงมากๆ เพราะปัจจุบันคนเราใช้มือถือมากขึ้นเรื่อยๆโดยเข้า Social network เหล่านี้เรียกว่าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการการขายผ่านออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจปัจจุบันควรให้ความสำคัญให้มากๆ

4.Promotion = ทำให้รู้จักสินค้า

ก่อนหน้านี้เราอาจรู้จักคำว่า ลด แลก แจก แถม ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่แต่ที่มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น ทำบัตรสมาชิก การเปิดตัวสินค้าผ่านการโฆษณาทางทีวี งานอีเว้นต์ต่างๆ การขายโดยพนักงานขาย และอีกมากมายที่จะทำให้รู้จักสินค้าของเรา แต่ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน และต่อมาจากสถานที่ขายออนไลน์ คือ การทำให้รู้จักสินค้าผ่านออนไลน์ เช่น เวปไซด์ เฟสบุ๊ค ไลน์ ยูทู๊ป นอกจากจะเป็นสถานที่จัดจำหน่ายแล้วยังเป็นช่องทางการโฆษณาในรูปแบใหม่ในยุคนี้จริงๆ แล้วการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์นี้จะมาพร้อมกับช่องทางการจัดจำหน่ายเหมือนกันเพราะใช้สื่อตัวเดียวกัน คือ โฆษณาแล้วก็ขายได้เลย ปัจจุบันใช้  การสื่อสารทางการตลาดแบบบูรณาการ หรือ IMC (Integrate Market Communicaation) 

จะเห็นได้ว่าส่วนประสมทางการตลาดที่เรียกว่า 4P นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้วที่จะนำพาธุรกิจเราไปรอดหรือไม่รอดเลยทีเดียว เราต้องหมั่นคอยอัพเดตเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับปรุงสินค้าให้ทันยุคทันสมัยกับลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่ง ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร คุณภาพก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเสมอ นั่นหมายถึง P ตัวแรก คือตัวสินค้านั่นเอง ถ้ามันดีจริง สมัยนี้จะมีคนบอกให้เราเองผ่านออนไลน์ แต่ก็ถ้าไม่ดีจริงก็โดนตำหนิผ่านออนไลน์เช่นกัน เป็นดาบสองคม ชีวิตเราถ้าเป็นคนดีมีคุณภาพจริงๆ ไม่ว่าใครจะมาใส่ร้ายป้ายสีอย่างไรก็ไม่หวั่นไหว เพราะความจริงเป็นสิ่งที่จะต้องถูกเปิดเผยในที่สุดในยุคออนไลน์….สนิทใจ

 

 

 

#ปลายทางของการเดินทางคือ คำตอบ แต่ระหว่างทางคือ ความหมาย

#ครั้งที่แล้วผมได้พูดถึงเครื่องมือการตลาดที่เรียก
ว่า SWOT ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนลงมือทำธุรกิจ

วันนี้เครื่องมือต่อมาที่จะมาใช้ต่อเพื่อให้ธุรกิจ ของเราไปได้ตลอดเส้นทางเดิน
เราเรียกเครื่องมือนี้ว่า STP

STP คือเครื่องมือทางการตลาดที่วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งส่วนตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จะนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปตามที่เราต้องการ โดยใช้หลักดังนี้

S-Segmentation หมายถึง การแบ่งส่วนตลาด โดยใช้หลักเกณฑ์การแบ่งเพื่อให้เห็นตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถใช้ปัจจัยในการแบ่งส่วนตลาดดังนี้
– แบ่งตามหลักประชากรศาสตร์ ซึ่งมีตัวแปรในการกำหนดส่วนตลาด คือ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา ขนาดของครอบครัว
– แบ่งตามหลักภูมิศาสตร์ เป็นการวิเคราะห์พื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายว่าพื้นที่ในการทำการตลาดหรือขายผลิตภัณฑ์ควรเป็นที่ใด โดยมีตัวแปรในการแบ่งคือ ประเทศ ภูมิภาค จังหวัด พื้นที่ในจังหวัด เช่น ใจกลางเมือง หมู่บ้าน ชนบท
– แบ่งตามหลักจิตวิทยา แบ่งส่วนตลาดจากกลุ่มประชากรโดยใช้หลักจิตวิทยา มีตัวแปรที่ใช้ในการแบ่ง คือ รูปแบบการดำเนินชีวิต ค่านิยม บุคลิกของผู้ใช้ ชนชั้นทางสังคม
– แบ่งตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ ศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้ของตลาดเป้าหมาย โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการวัดผล คือ โอกาสของการใช้ ความถี่ในการใช้ อัตราการใช้ ประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้า ความภักดีต่อสินค้า

T-Targeting หมายถึง การกำหนดตลาดเป้าหมายโดยพิจารณาว่าตลาดเป้าหมายโดยมีขั้นตอนในการเลือกตลาดเป้าหมายดังนี้
1. ประเมินสถานการณ์ตลาด โดยพิจาณาถึงขนาดของตลาด ความยากง่ายในการเข้าตลาด จำนวนคู่แข่งในตลาด ความรุนแรงทางการแข่งขันในตลาด ผู้นำตลาดคือใคร
2. เลือกตลาดเป้าหมาย โดยการเลือกตลาดจะต้องมีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ โดยวิธีเลือกตลาดจะมีดังนี้
2.1 มุ่งตลาดเฉพาะส่วนโดยใช้ผลิตภัณฑ์เดียว โดยมีสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียวเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเดียวเท่านั้น การดำเนินธุรกิจในตลาดเฉพาะส่วนจะใช้ต้นทุนต่ำแต่มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน
2.2 มุ่งตลาดหลายส่วนโดยใช้หลายผลิตภัณฑ์ ธุรกิจจะมีสินค้าหรือบริการหลายอย่างที่สามารถตอบสนองให้กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยแต่ละตลาดจะมีความต้องการที่ต่างกัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้จะต้องมีหลายกลยุทธ์เพื่อความสอดคล้องกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
2.3 มุ่งตลาดหลายส่วนโดยใช้ผลิตภัณฑ์เดียว อาศัยจุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวแต่กระจายผลิตภัณฑ์ไปยังหลายๆตลาด อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ในการดำเนินการก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกลุ่มลูกค้าด้วย
2.4 มุ่งตลาดส่วนเดียวโดยใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเพียงตลาดเดียวโดยศึกษาความต้องการของตลาดนั้นและนำสินค้าหรือบริการตอบสนองความต่อความต้องการในนั้น
2.5 มุ่งตลาดรวม เป็นการขายสินค้าหรือบริการหลายประเภทให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะเป็นประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการจัดการและทำการตลาด

Positioning หมายถึง การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องมีการพิจารณาเรื่องจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คุณภาพ ความทนทาน รูปลักษณ์ รูปแบบ ราคาของผลิตภัณฑ์ การใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ การซ่อมแซมสามารถทำได้ง่าย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในตลาดว่าเรามีอะไรที่ดีกว่าหรือด้อยกว่า เมื่อวิเคราะห์เสร็จสิ้นเราจะสามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด หรืออาจสร้างแผนภาพเพื่อให้เห็นตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

#ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือหลักการตลาดขั้นพื้นฐานที่หาข้อมูลได้มากมายจากแหล่งต่างๆมากมาย

#เอาเข้าจริงคือการลงพื้นที่หาข้อมูลและสัมผัสตลาด จริงๆจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากกว่า การทำธุรกิจก็เหมือนการดำเนินชีวิต ต้องมีกาวางแผนก่อนออกเดินทาง ยิ่งเราวางแผนมาดี จะทำให้เรารับมือกับปัญหาได้ทันท่วงที

#โดยที่ชีวิตถ้ามี สติ ก็คือ เครื่องมือที่ใช้ในการเดินทางที่แสนยาวไกล อย่างยั่งยืน….สนิทใจ

 

 

 

 

#จากคู่แข่งสู่คู่ค้า จากคู่ค้าสู่คู่คิดด้วยเมตตา

#ที่ผ่านมาเราได้พูดถึงเครื่องมือหลายๆ ตัวที่ใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งเครื่องมือทุกตัวสำคัญมาก

เปรียบเหมือนเราจะสร้างบ้านก็จะต้องใช้เครื่องหลายอย่าง จึงจะสร้างบ้านได้
วันนี้เราจะมาพูดถึง เครื่องมือที่เป็นตัววิเคราะห์สภาพการแข่งขันในธุรกิจที่เราอยู่ซึ่งต้องบอกว่าถ้าเราไม่รู้ไว้ โอกาสที่ธุรกิจเราจะไปไม่รอดสูงมากๆ เขาเรียกเครื่องมือนี้ว่า 5 FORCES (5 พลังของการเปลี่ยนแปลง)

ซึ่งเจ้าเครื่องมือชิ้นนี้มักถูกใช้เพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของตลาดเพื่อเตรียมรับมือกับสภาพของตลาดที่สินค้าและบริการของเรานั้นเข้าไปอยู่ว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร และมีความเสี่ยงแค่ไหนในการทำธุรกิจ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. อำนาจการต่อรองจากผู้บริโภค
เวลาเราทำธุรกิจหรือขายสินค้านั้นลูกค้าถ้ามีอำนาจเหนือเรา หรือที่เรียกว่าอยากได้อะไรเราต้องทำตามเพราะถ้าไม่มีลูกค้าคนนี้หรือเจ้านี้ สินค้าเราขายไม่ได้แน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจน้อยและไม่เป็นที่ต้องการของตลาดลูกค้าก็จะยิ่งมีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น และจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกถ้าหากลูกค้ามีการรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อในปริมาณมาก ตรงนี้เราต้องสำรวจให้ดีว่าธุรกิจหรือสินค้าเรา ตกอยู่เช่นนี้หรือเปล่า

2.อำนาจการต่อรองจากผู้ผลิต
พูดง่ายๆก็คือ เราต้องซื้อวัตถุดิบจากใครบ้าง คนเหล่านั้นมีอำนาจเหนือเราหรือไม่ เรามีทางเลือกในการซื้อที่มากพอหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราต้องเจอกับผู้ผลิตที่มีจำนวนน้อยแล้วยิ่งเลี่ยงที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ได้ยากเพราะทางเลือกเราย่อมน้อยลงตามไปด้วย และแน่นอนว่าเมื่อเรากำหนดราคาเองไม่ได้ก็จะส่งผลให้ต้นทุนในการทำธุรกิจของเรานั้นสูงขึ้น

3.อุปสรรคการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่
เรื่องนี้เป็นส่วนสำคัญมากเพราะคนเหล่านี้จะมาแชร์ ส่วนแบ่งการตลาดของเรา ต้องดูว่าธุรกิจที่เราทำอยู่เข้านั้น การเข้ามาของหน้าใหม่ยากง่ายอย่างไร และเราเตรียมตัวพร้อมรับกับสิ่งนี้อย่างไร

4.สินค้าทดแทน
อันนี้บางครั้งเรามองข้ามไป เพราะเห็นว่าไม่ได้ทำธุรกิจเดียวกับเรา จึงไม่สนใจ สุดท้ายลูกค้าหายไปให้กับสินค้าเหล่านี้
เพราะราคา หรือ ตัวสินค้าที่น่าสนใจกว่า
นั่นเอง เพราะฉะนั้น เราต้องรอยสอดส่องดูว่าสินค้าเรามีอะไรบ้างที่ มีคุณสมบัติที่คล้ายๆเรา เพื่อเตรียมตัวรับมือหากเกิดกรณีลูกค้าเปลี่ยนใจ

5.ความรุนแรงในการแข่งขันกันเองภายในธุรกิจ

สิ่งนี้แหละที่เป็นคู่แข่งตรงๆ กับเราเลย
เพราะว่าต้องแชร์ตลาดกัน กลยุทธ์ และยุทธวิธีได้ถูกงัดมาใช้กันมากมายเพื่อช่วงชิง ลูกค้า บางรายสายป่านไม่พอ คือ เงินสู้ไม่ไหว สุดท้ายต้องออกจากธุรกิจไปนั่นเอง ตรงนี้เราต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อเตรียมรับมือไว้

#สุดท้ายแล้วสิ่งที่เครื่องมือ 5 FORCES
ได้บอกมาก็เป็นสิ่งที่ทุกๆคนน่าจะพอรู้
กันบ้างแล้วจากที่เคยทำธุรกิจกันมา

#แต่อาจไม่ใส่ใจมากนัก หรือมองข้ามไป
พอเกิดปัญหาขึ้นกับธุรกิจถึงค่อยมาดู
บางครั้งไม่ทันการ

#สิ่งหนึ่งที่อยากจะเพิ่มเติม คือ ถ้าเราทำธุรกิจด้วยความซื่อตรง ไม่เอาเปรียบทั้งคู่ค้าเรา คู่แข่งเรา มีความเมตตาเป็นที่ตั้ง

#เราจะเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าและเปลี่ยนคู่ค้าเป็นคู่คิดอย่างยั่งยืน….สนิทใจ

 

 

 

#ความรอบรู้สำคัญมาก#แต่ความรู้รอบสำคัญกว่า

#เราพูดเครื่องมือในการวิเคราะห์ทั้งภายนอกภายใน ธุรกิจของเรามาหลายตัวแล้ว และอีก 1 เครื่องมือที่เราต้องทำความรู้จัก เรียกว่า PESTLE

PESTLE จะละเอียดลงลึกถึงรูขุมขนมากกว่า SWOT แถมยังโฟกัสไปที่ปัจจัยภายนอกและสิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นอย่างประมาทมิได้ แยกและย่อออกมาดังนี้

· P – Political การเมือง
การดูทิศทางของการเมืองเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางครั้งส่งผลต่อ ธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆที่ออกมา ต้องดูว่าส่งผลต่อธุรกิจของเราด้านไหน หรือไม่ส่งผล ต้องพิจารณาให้ดี

· E – Economic เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจในที่นี้คือ ระดับมหภาค คือ เศรษฐกิจโลกจนถึงภายในประเทศเรา
เพราะในปัจจุบันพบว่า มีทิศทางไปในทางเดียวกันบ้าง ไม่ส่งผลบ้าง หรือฟื้นเร็วกว่าแต่ก่อน ต้องมั่นสำรวจและอัพเดทข่าวสารอยู่เสมอ

· S – Social สังคม
ทิศทางของสังคมก็เป็นตัวผลักดันให้มีค่านิยม มุมมอง วิถีชีวิต ไปในทางใดทางหนึ่ง เมื่อถึงเวลาหนึ่งความนิยมบางอย่างอาจหมดไป หรือว่าของเก่ากลับมานิยมใหม่ ต่างๆเหล่านี้เราต้องทันข้อมูลข่าวสารให้ดี

· T – Technical เทคโนโลยี
จริงๆ เรื่องเทคโนโลยี ในปัจจุบันกับสังคมจะเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันมาก
ที่เรียกกันว่า Social network โดยที่เทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคมกันเลย ทีเดียว เช่น สมาร์ทโฟน
เฟสบุ๊ค ยูทู๊ป ไลน์ และอีกมากมายที่เทคโนโลยีนำมาซึ่งการเปลี่ยนโครง
สร้างทางสังคมอย่างมากมาย เราทำธุรกิจยิ่งต้องคอยสนใจอย่างสม่ำเสมอ
เพราะพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปตลอด

· L – Legal กฎหมาย
ต้องดูว่าธุรกิจเราขัดต่อกฏหมายหรือเปล่า ยิ่งกฏหมายเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยี ที่ออกมาคุ้มครองสิทธิต่างๆกันมากมาย เราจะทำอะไรต้องคอยดูว่าไปละเมิดสิทธิคนอื่นบ้างหรือเปล่า ส่งผลให้ผิดกฏหมายได้

· E – Environmental สิ่งแวดล้อม
ภาวะโลกร้อนอยู่ไม่ไกลตัวเราแล้ว ยิ่งปัจจุบันความร้อนทวีความรุนแรงมากๆ จะเห็นได้ว่า อากาศร้อนขึ้นมากซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต นี่ก็เป็นตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อเรา และ
เราก็ต้องดูว่าธุรกิจเราไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือไม่
ยิ่งคนในสังคมตื่นตัวเรื่องนี้มาก อาจถึงขั้นไม่ใช้สินค้าเราเลย มีให้เห็นกันมากมายในธุรกิจปัจจุบันสุดท้ายโดน
สังคมกดดันมากมาย สิ่งนี้ต้องตระหนักให้ดี

       #ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้มีอะไรใหม่จากที่เรารู้กันมาเลย เพราะข่าวสารบ้านเมืองที่เราเสพกันอยู่ ก็มีรายงานสิ่งเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่นัก

#ทุกๆอย่างถ้าเราใช้ สติ เราจะอยู่กับมันอย่างเข้าใจ เพราะทุกๆอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง ความรอบรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ความรู้รอบนั้นสำคัญกว่า….สนิทใจ